🔴 โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ส่วนมากพบอาการกับข้อใหญ่ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวมาก หรือข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่บุปลายกระดูกข้อ เป็นเหตุให้ผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมัน กลายเป็นผิวขรุขระ เป็นผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดและเสียไป การเสื่อมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ยาที่ใช้ในการรักษาจะเป็นเพียงยากินบรรเทาอาการปวด ได้แก่ ยาแก้ปวดพวกแอสไพริน พาราเซตามอล และยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ นอกจากนี้ในปัจจุบันยาที่มีฤทธิ์คล้ายเป็นอาหารสำหรับกระดูกอ่อน คือ กลูโคโซมีน (glucosamine) เพื่อทำให้กระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะใช้ได้ในผู้ป่วยบางราย แต่ในรายที่กระดูกอ่อนเสื่อมหมดแล้วยานี้จะใช้ไม่ได้ผล สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง อาจทำให้จำเป็นต้องใช้ยาฉีดที่เป็นสเตียรอยด์ ฉีดเข้าข้อเพื่อลดอาการอักเสบเฉพาะที่ ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
🔴 การป้องกันและรักษาโรคข้อเสื่อมโดยไม่ใช้ยา ถ้าอ้วน หรือน้ำหนักเกินให้ลดน้ำหนักลง เพราะน้ำหนักที่เกินทำให้ข้อรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น และเสื่อมเร็วขึ้น ลดการทำงาน หรือการรับน้ำหนักของข้อ หลีกเลี่ยงการกระโดด คุกเข่า การนั่งพับเพียบ งดการยกของหนัก บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงเสมอ เช่น การนั่งหรือนอน ยกหรือขยับข้อเข่า ข้อสะโพกให้มีการ เคลื่อนไหวเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือการว่ายน้ำ ถีบจักรยาน
🔴 โรคกระดูกพรุน กระดูกของคนเรามีหน้าที่สำคัญคือเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อรับน้ำหนักและแรงกดกระแทกต่างๆเมื่อใช้ไปนานๆ ก็มีการผุกร่อน กระดูกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อผิวกระดูกเริ่มเก่า ร่างกายจะผลิตตัวสลายกระดูก ส่งตรงมายังผิวกระดูกเก่าเพื่อย่อยสลาย จากนั้นร่างกายจะผลิตตัวสร้างเนื้อกระดูก โดยดึงแคลเซียมจากกระแสเลือดเข้ามาเสริมเพื่อให้กระดูกใหม่แข็งแรง ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะเป็นตัวควบคุมตัวสะลายและตัวสร้างกระดูกทำงานอย่างสมดุล แต่เมื่อเข้าวัยหมดฮอร์โมน ตัวสลายจะทำงานเร็วกว่าตัวสร้างหลายเท่าจนเนื้อกระดูกเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ และเข้าสภาวะกระดูกพรุน
🔴 แคลเซียมนั้นสำคัญไฉน แคลเซียม เป็นแร่ธาตุสำคัญในกระดูกและฟันนอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมน และเอนไซม์ เพื่อให้ร่างกายทำงานปกติ ในแต่ละวันร่างกายต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณ ที่เพียงพอ ผู้ชายและผู้หญิงสูงอายุต้องการแคลเซียมประมาณวันละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม แคลเซียมอยู่ในอาหารปริมาณต่างๆกัน แคลเซียมในนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยแข็ง จะถูกดูดซึมได้ง่ายที่สุด ส่วนแคลเซียมจากกระดูกสัตว์ เช่น ที่พบในปลาเล็ก ปลาน้อย กะปิ ถูกดูดซึมได้ค่อนข้างดี ในขณะที่แคลเซียมในผัก เช่น เมล็ดงา ถั่วเหลือง ผักคะน้า มะเขือพวง ใบยอ ถูกดูดซึมได้ต่ำ เนื่องจากมีสารหลายชนิดรบกวนการดูดซึม
🔴 ยาแคลเซียมแบบเม็ดแคปซูล ต่างก็เป็นรูปแบบยาที่ทำขึ้นให้แตกต่างกันเพื่อให้สะดวกแก่การกิน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดเมื่อเลือกซื้อควรทราบว่า ตัวยาแคลเซียมนั้นอยู่ในรูปเกลืออะไร ปริมาณเท่าไร และให้แคลเซียมปริมาณเท่าไร
แคลเซียมในรูปเกลือต่างๆ | ปริมาณแคลเซียมที่ได้จากเกลือแคลเซียม 100 มิลลิกรัม
แคลเซียมคาร์บอเนต | 40 มิลลิกรัม
แคลเซียมอะซิเตด | 25 มิลลิกรัม
แคลเซียมซิเตรด | 21 มิลลิกรัม
แคลเซียมแลคเตด | 13 มิลลิกรัม
แคลเซียมกลูโคเนส | 9 มิลลิกรัม
หากรับประทานแคลเซียมเสริมมากเกินไป อาจทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงมาก กระทั่งเกิดพิษจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต หรือกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อ เกิดอาการท้องผูก คลื่นไส้ มึนงง ปัสสาวะมาก หัวใจเต้นผิดปกติ ดังนั้นในการรับประทานแคลเซียมเสริมนั้น ต้องรับประทานแต่พอดีไม่มากเกินไป