คอเลสเตอรอล คือ ไขมันประเภทหนึ่ง มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว พบได้ในเซลล์ของอวัยวะทั่วไปในร่างกาย จินตนาการง่ายๆ ว่าส่วนประกอบที่เป็นของเหลวในตัวเรา ล้วนมีคอเลสเตอรอลแทรกซึมเป็นเจ้าถิ่นอยู่ทุกอณู ไม่เว้นแม้แต่ส่วนสำคัญที่สุดอย่างก้อนไขมันทรงประสิทธิภาพที่เรียกว่า สมอง คอเลสเตอรอล เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัวและตีบตัน คอเลสเตอรอลจะมีมากในไขมันสัตว์ และระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือด (Total Cholesterol) ไม่ควรเกิน 200 mg/dl ที่สำคัญคือ ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีมันติดมาก ๆ เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือสูงเกินค่าปกติได้ คือ อาหาร ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้ อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมี 2 ชนิด คือ ไขมันแข็ง หรือไขมันอิ่มตัว ซึ่งมักได้จากสัตว์ และอาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต อาหารพวกนี้ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก ๆ แต่ควรบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันปลา น้ำมันมะกอก น้ำมันงา เป็นต้น การบริโภคไขมันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวของคอเลสเตอรอลจากพลาสมาเข้าสู่เนื้อเยื่อ เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวมีผลต่อการนำคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ จึงทำให้มีการสลายตัวของ LDL เพิ่มขึ้น ส่วนกรดไขมันอิ่มตัวจะไปลดการนำคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์
วิธีป้องกันการเกิดคอเลสเตอรอลสูง
1) หลีกเลี่ยงอาหารพวกไข่แดง เนื้อสัตว์
2) หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน
3) ลดการบริโภคน้ำตาล และของหวาน
4) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5) หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด หรือ ผัด
6) ควบคุมน้ำหนัก
7) ตรวจสุขภาพอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง