เมื่อหน้าฝนมาเยือน ไม่เพียงนำความชุ่มชื้นมาฝากผืนดินและผู้คนแต่ฝนชุกยังมาพร้อมโรคถึง 5 กลุ่ม รวมกว่า 10 โรค ที่เราสามารถป้องกันได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเตือน 90 วันอันตราย ในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนชุกประชาชนควรป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝนซึ่งมีโรค 5 กลุ่มได้แก่

🔴 1. กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อยได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหารดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือกินอาหารสุกๆ ดิบๆ

🔴 2. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนังที่พบบ่อยคือ โรคแล็ปโตสไปโรซิส (leptospirosis) หรือไข้ฉี่หนู อาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรงและตาแดง

🔴 3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยได้แก่โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย

🔴 4. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ได้แก่ ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) มียุงรำคาญมักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนาเป็นตัวนำโรค และโรคมาลาเรียมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ทั้ง 3 โรคนี้อาการเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียนโดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบ อาจทำให้พิการภายหลังได้

🔴 5. โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กอยู่ในบ้านในช่วงนี้หากลูกมีไข้สูงควรไปพบแพทย์ทันทีนอกจากนี้มีข้อควรระวังสำคัญคือ ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะยาชนิดนี้มีอันตรายกับบางโรคโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้ฉี่หนู เพราะโรคทั้ง 3 ทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอยู่แล้ว หากได้รับยาแอสไพรินซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้นทำให้เสียชีวิตจากโรคได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามในช่วงหน้าฝนนี้เราสามารถป้องกันโรคต่างๆ เหล่านี้ได้โดยดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุขสะอาด ล้างมือ ให้สะอาดอยู่เสมอ ดูแลไม่ให้พื้นที่หรือภาชนะในบ้านมีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ดูแลตัวเองและลูกน้อยไม่ให้ถูกยุงกัด ไม่ควรออกไปเดินลุยในพื้นที่น้ำขัง และล้างเท้าฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอหลังออกไปเดินในพื้นที่ชื้นแฉะหลังฝนตกใหม่ๆ