🔴 คาร์โบไฮเดรต สมองต้องการคาร์โบไฮเดรตในรูปน้ำตาลกลููโคสเพื่อเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง แต่การทานแป้งและน้ำตาลในปริมาณมากเกินไปกลับจะส่งผลให้สมองเฉื่อยชาได้ ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตในรูปที่ไม่ขัดสี เพื่อให้มีการปลดปล่อยกลูโคสอย่างช้า ๆ ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตชนิดดี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลโฮลเกรน เพราะนอกจากจะได้กลูโคสแล้วยังมีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารอีกด้วย

🔴 โปรตีน ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ควรเลือกทานเนื้อสัตว์ชนิดไม่ติดมัน และในหนึ่งสัปดาห์ควรทานปลาอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เนื่องจากมีกรดไขมันโอเมก้า-3 หรือ DHA ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ในเซลล์สมอง สำหรับปลาในประเทศไทย เช่น ปลากะพง ปลาทูน่า ก็เป็นปลาที่มีโอเมก้า-3 มากเช่นกัน และถ้าจะให้ดีควรนำมาประกอบอาหารด้วยวิธีต้ม นึ่ง อบ จะดีกว่าการนำมาทอด เพราะการทอดจะทำให้กรดไขมันโอเมก้า-3 ในปลาส่วนหนึ่งไปอยู่ในน้ำมันที่ใช้ทอด และได้กรดไขมันอื่น ๆ ในน้ำมันที่ใช้ทอดเพิ่มเข้ามา

🔴 กลุ่มวิตามินบี วิตามินบีมีหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1, 6 และ 12 มีความจำเป็นในการทำงานของระบบประสาทด้านความจำ ทั้งยังช่วยเร่งการส่งต่อข้อมูลของเซลล์สมอง ทำให้เยื่อหุ้มรอบ ๆ เซลล์สมองทำงานได้อย่างปกติ พบมากในเมล็ดธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี จมูกข้าว รำข้าว งา ถั่ว ข้าวโพด

🔴 โคลีน เป็นสารที่ใช้ในการสร้างอะซิตีลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญของระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะความจำเสื่อม อาการหลงลืม พบมากในข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ผักใบเขียวต่าง ๆ และจมูกข้าวโพด นอกจากนี้ โคลีนยังพบได้ในไข่แดง ซึ่งคนที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงต้องระวังไม่ทานมากเกินไป

🔴 ธาตุเหล็ก จำเป็นต่อการนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์สมอง พบในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ผักที่มีใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม

เมื่อรู้จักอาหารที่ช่วยเพิ่มความจำแล้ว ควรกินอาหารเหล่านี้ให้เป็นประจำและหลากหลาย แล้วความจำที่ดีจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ