โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย เป็นอาการผิดปกติของท้องหรือลำไส้ มักมีอาการบริเวณตรงกลางของท้องด้านบน อยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ ตัวอย่างอาการของโรคท้องอืด ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง มีการบีบรัดของลำไส้ ท้องหลามตึง ๆ อืด ๆ มีลม หรือก๊าซในกระเพาะอาหาร เรอเหม็นเปรี้ยว และอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก เหนือลิ้นปี่ และบางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็วร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการร่วมกันก็ได้
สาเหตุของท้องอืด
จะแก้ไขได้ต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืดแต่ละบุคคลก่อน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคท้องอืดเกิดจากอาหารหรือพฤติกรรมการกิน เป็นสำคัญ รองลงมาคือโรคของระบบทางเดินอาหาร ยาบางชนิด แอลกอฮอล์ กาเฟอีน บุหรี่ เป็นต้น
ท้องอืดจากการกินอาหาร
1. ชนิดของอาหารและเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
อาหารที่ย่อยไม่หมดโดยเฉพาะอาหารพวกแป้งที่มีใยอาหารจะไม่ถูกย่อย เมื่อผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่เชื้อแบคทีเรียจะย่อยสลายทำให้เกิดก๊าซ นอกจากนั้นน้ำตาลที่อยู่ในนมหากร่างกายไม่ย่อยก็ทำให้เกิดก๊าซมากเช่นกัน ในบางชนิดของอาหารมีผลต่อท้องอืดโดยตรง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ ช็อกโกแลต เนย อาหารรสจัด อาหารที่ย่อยได้ยาก เช่น เนื้อสัตว์
2. พฤติกรรม อุปนิสัย หรือลักษณะการกินอาหาร
– พฤติกรรม หรืออุปนิสัย ลักษณะการกินอาหาร ก็มีส่วนทำให้เกิดท้องอืดได้ เช่น เร่งรีบกินอาหาร เคี้ยวไม่ละเอียด กินอาหารผิดเวลา กินอาหารจนอิ่มมากเกินไป หรือการล้มตัวลงนอนหลังจากกินอาหารเสร็จใหม่ ๆ ล้วนเป็นลักษณะการกินอาหารที่ไม่ดี ทำให้เกิดท้องอืดได้
– การกินลม หมายถึง การกลืนลมเข้าไปทางปากและไหลลงไปในท้อง ทำให้กระเพาะอาหารมีก๊าซจำนวนมากเกิดท้องอืดได้ ตัวอย่างการกินหรือกลืนลม ได้แก่ การพูดมาก (ลมเข้าปาก) การเคี้ยวหมากฝรั่ง การดูดลูกอม การดูดของเหลวหรือน้ำผ่านหลอดเล็ก ๆ การดื่มน้ำจากขวดปากแคบ เป็นต้น
ท้องอืดจากโรคของระบบทางเดินอาหาร
1. โรคของระบบทางเดินอาหารหลายชนิดก็ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย เช่น แผลกระเพาะอาหาร กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร (Gastro-esophageal Reflux Disease GERD) กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร นิ่วถุงน้ำดี เป็นต้น
2. โรคที่ลำไส้มีการอุดตันทำให้ก๊าซไม่สามารถไปลำไส้ใหญ่ เช่น ไส้เลื่อนที่อุดตัน ผังผืดในท้องรัดลำไส้ เป็นต้น ผู้ที่มีโรคดังกล่าวจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน
3. ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลำไส้แปรปวน อาหารที่มันหรือมีกากมาก
4. ผู้ป่วยที่มีลำไส้ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าก๊าซในลำไส้อาจจะไม่มากแต่ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง
การดูแลแก้ไขอาการท้องอืด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ด้วยการรักษาสุขลักษณะ การกินอาหารที่ดี เริ่มตั้งแต่การเลือกชนิดของอาหารที่ไม่มีปัญหาเรื่องท้องอืด อุปนิสัยการกินอาหาร และหลีกเลี่ยงการกินลม ดังนี้
– รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
– ควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใย เพราะสารเส้นใยจะช่วยซับเอากากอาหารให้ผ่านออกนอกร่างกายโดยเร็ว ทำให้ไม่มีอาหารคั่งค้างในลำไส้ และปลอดจากอาการท้องผูก สารเส้นใยที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือ สารฟรุกโตโอลิโกแซ็คคาไรค์ ซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงซ้อน น้ำตาลนี้ร่างกายใช้ไม่ได้แต่จะเป็นอาหารของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียตัวดีในลำไส้ใหญ่ เมื่อแบคทีเรียกินน้ำตาลเชิงซ้อนมันจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น และยับยั้งแบคทีเรียตัวร้ายไม่ให้สร้างก๊าซในท้อง ซึ่งสารฟรุกโตโอลิโกแซ็คคาไรค์พบได้ในธรรมชาติ เช่น หัวหอมใหญ่ กระเทียม มะเขือเทศ กล้วยหอม แก้วมังกร เป็นต้น
– หลีกเลี่ยงอาหาร มีไขมันสูงย่อยยาก นม เนย และประเภทโปรตีนสูง เช่น นมวัว ชีส นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เครื่องดื่มช็อคโกแล็ต เครื่องดื่มประเภทข้าวมอลต์ผสมนม พิซซ่า ขนมเค้ก โดนัท ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู อาหารทอด ผัดมัน ๆ และกะทิ เพราะอาหารกลุ่มนี้จะใช้เวลาผ่านกระเพาะอาหารไปช้ามาก บางครั้งนานถึง 6-8 ชั่วโมง จึงอาจจะทำให้ท้องอืดได้ง่าย
– หลีกเลี่ยงการรีบเร่งกินอาหารหรือเคี้ยวไม่ละเอียด ด้วยการกินช้า ๆ พร้อมทั้งเคี้ยวและคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากันดี ก่อนกลืนอาหาร
– ไม่ควรกินอาหารจนอิ่มมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง และแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ แต่กินบ่อย ๆ แทน
– หลังกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่ควรนอนราบทันทีเพราะ การนอนราบ ส่งผลให้ระดับของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะอยู่ในระนาบเดียวกันและอาจทำให้กรดไหลจากกระเพาะอาหารย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหารได้ เกิดการระคายเคือง และหลอดอาหารอักเสบได้
– หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (กาแฟ ชา)