ร่างกายเราต้องการแร่ธาตุต่างๆ มากกว่า 10 ชนิด ในรูปของสารอาหารที่เป็นเกลือแร่ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของส่วนประกอบโครงสร้างของร่างกายเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อ น้ำเลือด ของเหลวอื่นๆและเพื่อทำงานร่วมกับสารอาหารชนิดอื่นด้วย ปริมาณแร่ธาตุที่เราต้องการได้รับต่อวันไม่มากนัก ในระดับไมโครกรัมถึงมิลลิกรัมเท่านั้น ไม่มากมายเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน ในพวกแร่ธาตุที่สำคัญเหล่านี้มีทั้งที่เป็น โลหะได้แก่ เหล็ก ทองแดง สังกะสี โคบอร์ทโครเมียม แมงกานีสโซเดียม โปรแตสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม และอโลหะ ได้แก่ ไอโอดีน ฟลูออรีน คลอรีน กำมะถัน

เมื่อกล่าถึงความแข็งแรง ความแข็งแกร่งของโครงสร้างร่างกาย เรามักนึกถึงแต่ธาตุแคลเซียมเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว กระดูกโครงสร้างของเรายังต้องการแร่ธาตุอื่นๆ อีก เช่น แมกนีเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งมักไม่ค่อยมีผู้คิดถึงแมกนีเซียม แมกนีเซียมเป็นธาตุที่มีบทบาทคู่กันมากับแคลเซียม เป็นธารตุที่ว่างไวต่อการทำ ปฏิกิริยาเคมีมาก จึงไม่ค่อยพบธาตุนี้อยู่เดี่ยวๆ มักพบในรูปสารประกอบในอาหาร

บทบาทหน้าที่ของแมกนีเซียม

แมกนีเซียมเป็นธาตุที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตการเจริญเติบโต ทำให้เรามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์เป็นธาตุที่สำคัญของสรีระวิทยาของคนเรา ทั้งนี้เพราะแมกนีเซียมเป็นธาตุที่เปรียบเสมือนตัว ขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการต่างๆ การทำงานต่างๆ ขออวัยวะให้ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา ในร่างกายผู้หญิงที่มีน้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม จะมีแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 20-28 กรัมประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณแมกนีเซียมในร่างกายอยู่ที่กระดูกและฟัน โดยรวมอยู่กับแคลเซียมและฟอสฟอรัสร้อยละ 27 อยู่ในส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อต่างๆ ในตับ หัวใจและตับอ่อนส่วนที่เหลือจะแทรกอยู่ตามเนื้อเยื่อและของเหลวระหว่างเซลล์แมกนีเซียมมีบทบาทช่วยในการดูดซึม วิตามินดี และฟอสฟอรัส ควบคุมการดูดซึมและการเผาผลาญแคลเซียม จึงมีผลในการเจริญเติบโตของกระดูกและบำรุงกระดูกช่วยลดการเสี่ยงความผิดปกติของกระดูกในเด็ก โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์ต่างๆของร่างกาย ทำหน้าที่เป็นตัวแร่งในการทำงานของเอนไซม์ หลายชนิดที่ควบคุมดูแลการสร้างโปรตีนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และไขมันมีความสำคัญต่อการทำงานของฮอร์โมน พาราไทรอยด์ ทำให้มีผลในการควบคุมปริมาณแคลเซียมในร่างกายด้วย และเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายมีบทบาทหน้าที่ร่วมกับวิตามินหลายชนิด เช่น บี 1 บี 6 ซี และดี เป็นการใช้ประโยชน์ของวิตามินเหล่านี้

แมกนีเซียมมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำงานเซลล์ประสาท และกล้ามเนื้อมีความสำคัญต่อการส่งสัญญาณประสาทการถ่ายทอดความรู้สึก การหดตัว การทำงานของกล้ามเนื้อลดอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อ การที่แมกนีเซียมทำหน้าที่ร่วมกันโปแตสเซียม ควบคุมปริมาณ โซเดียมในร่างกายในระดับเซลล์จะช่วยดูแลการซึมผ่านของผนังเซลล์ เป็นการช่วยในการควบคุมสมดุลภาวะความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย และมีผลในการควบคุมความดันโลหิต ดังนั้นผู้ที่รับประทานอาหารที่มีปริมาณแมกนีเซียมสูงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ แหล่งอาหารที่เราจะได้รับแมกนีเซียม เราจะพบว่ามีแมกนีเซียมปริมาณสูงในพืชที่มีใบสีเขียวทั้งนี้เพราะแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลด์ ในเมล็ดถั่วต่างๆ เมล็ดอัลมอนต์รวมถึงถั่วฝักยาว ในผลไม้ เช่น กล้วย ในปริมาณ 50-100 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ในธัญพืชที่ไม่สีเปลือกจะพบในปริมาณสูงกว่าเมล็ดที่สีเปลือกออกทั้งนี้เพราะแมกนีเซียมจะอยู่ที่รำและเปลือกเมล็ดมากกว่า

อาการที่แสดงภาวะแมกนีเซียมผิดปกติ

ทั่วไปเราควรจะได้รับแมกนีเซียมประมาณ 300 ถึง 350 มิลลิกรัมต่อวัน จากอาหารหลากหลายชนิด ร่างกายที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำกว่าปกติมากจะแสดงอาการออกทางระบบประสาท มีอาการสับสน อาการเครียด เวียนศีรษะ ความจำไม่ดี แขนขาอ่อนแรง มือสั่น ตากระตุกอยู่นิ่งไม่ได้ มือเท้าเจ็บอาจมีอาการชักกระตุกเนื่องจากแมกนีเซียมมีหน้าที่ในการรักษาสมดุลของธาตุต่างๆในของเหลวของร่างกายเมื่อแมกนีเซียมในร่างกายต่ำกว่าปกติ จะพบอาการผิดปกติของระบบหมุนเวียนโลหิตหัวใจเต้น ผิดปกติ ชีพจรช้า และมีภาวะแคลเซียม โปแตสเซียมต่ำ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ตามมา คือการเผาผลาญกลูโคสในร่างกายผิดปกติ การตอบสนองของอินซูลินน้อยลง และพบว่ามีโรคหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะการณ์ขาดแมกนีเซียม เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะฮอร์โมนสูงผิดปกติ ในเด็กถ้าได้รับแมกนีเซียมต่ำต่อเนื่องจะมีผลให้เด็กไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เราจึงควรชักชวนให้เด็กรับประทานผักใบเขียว ในทางตรงกันข้ามถ้าร่างกายได้รับแมกนีเซียมมากเกินไปก็จะมีข้อเสียคือทำให้ เกิดอาการง่วงเหงา เชื่องซึม กล่าวโดยสรุปสำหรับแมกนีเซียม แม้ธาตุนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในกระดูก แต่บทบาทหน้าที่สำคัญอยู่ที่ระบบประสาท กล้ามเนื้อ ในเรื่องการส่งผ่านความรู้สึก และกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกายเพราะแมกนีเซียมทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เอนไซม์หลายชนิดทำงาน มีความสำคัญในการสร้างพลังงาน การสร้างโปรตีน สร้าง ดีเอ็นเอ อาร์เอนเอ แมกนีเซียมเป็นธาตุทำงานร่วมกันธาตุและวิตามินอื่นๆ ที่ทำให้เกิดกระบวนการทำงานต่างๆ ให้ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลาในร่างกายเรา