หลายๆ คน คงคุ้นเคยกับเรื่องไขมันในเลือดมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ส่วนมากคงจะคุ้นเคยกับคอเลสเตอรอล ซึ่งมีผลต่อการตีบตันของหลอดเลือดแดงในร่างกาย แต่ยังมีไขมันในเลือดอีกตัวหนึ่งคือ “ไตรกลีเซอไรด์” ที่มีผลเสียต่อสุขภาพของหลอดเลือดแดงเช่นกัน ถ้าระดับของมันในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์คล้ายคอเลสเตอรอลที่สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้โดยตัวมันเอง จากงานวิจัยพบว่า แม้คอเลสเตอรอลในเลือดจะมีระดับปกติ แต่ถ้าไตรกลีเซอไรด์สูงจะสามารถทำให้เกิดโรคได้ คือ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานชนิด 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นอกจากนี้ถ้าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคตับอ่อนอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจจะทำให้ตายได้ ในทางเคมีไตรกลีเซอไรด์ เป็นสารประกอบที่มีกรดไขมัน 3 โมเลกุล ซึ่งถูกทำให้เป็นเกลือเอสเตอร์ ที่เรียกว่า กลีเซอรอล ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันที่เป็นกลาง สังเคราะห์มาจากคาร์โบไฮเดรตแล้วเอาไปเก็บไว้ในเซลล์ไขมัน เมื่อเซลล์ไขมันถูกย่อย มันจะปล่อยกรดไขมันออกมาสู่กระแสเลือด ถ้าคุณมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง คุณควรจะเปลี่ยนวิถีชีวิตการกินอยู่ให้ดีขึ้น เช่น ลด ละ เลิก อาหารบางอย่าง ร่วมกับการออกกำลังกาย เมื่อเรากินอาหารเข้าไปมากกว่าที่ร่างกายจะใช้ได้หมด อาหารนั้นจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์แล้วถูกเก็บไว้ในเซลล์ไขมัน ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงมีผลเสียต่อสุขภาพ

คนที่มีความเสี่ยงต่อไตรกลีเซอไรด์สูง

– คนอ้วน ความอ้วนสามารถทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงได้
– ดื่มแอลกอฮอล์ สารตัวนี้ทำให้ตับผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น และลดการกำจัดไขมันจากเลือด ทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง
– กินอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะของหวานที่มีน้ำตาลมาก น้ำตาลส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์
– อายุมาก คนที่อายุมากจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นด้วย
– ยาบางตัวทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น เช่น ยาขับปัสสาวะ ไธอาไซด์ (Thiazide diuretics) การให้ฮอร์โมนรักษาโรค ยาคุมกำเนิดบางตัวทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
– พันธุกรรม คนที่มีญาติเป็นโรคหัวใจ มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคนี้ด้วย เนื่องพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันมาในสายเลือด
– จากโรคบางชนิดทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงได้ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย โรคตับ และโรคไต

ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงหรือไม่สูงหมายความว่า

ความเสี่ยงสูงมาก ระดับ 500 (หรือมากกว่า) มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ความเสี่ยงสูง 200 – 499 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ความเสี่ยงค่อนข้างสูง 150 – 199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ความเสี่ยงปกติ 149 (หรือน้อยกว่า) มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ระดับต่ำกว่า 100 ดีที่สุด)

เมื่อไตรกลีเซอไรด์สูงรักษาได้ไหม ?

เมื่อระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงสามารถทำให้ลดลงได้ด้วยการควบคุมอาหาร คือการลดการกินไขมัน น้ำตาล และแอลกอฮอล์ การลดการกินของหวาน เช่น คุกกี้ น้ำอัดลม ในบางคนสามารถทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงได้เป็นอย่างมาก การลดน้ำหนักและออกกำลังกายวันละ 30 นาที ก็สามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้

การกินอาหารประเภทปลา ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มาก เช่น ปลาทูน่า เทราท์ แซลมอน แฮริง แทนการกินเนื้ออย่างอื่น สามารถทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงได้ กรดไขมันโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลามีฤทธิ์ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับ HDL (คอเลสเตอรอลตัวดี) ซึ่งทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และอัมพาต อัมพฤกษ์ได้