สักครั้งในชีวิตของคนเรานั้น ต้องเผชิญกับความเครียดแน่นอนไม่มากก็น้อย คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อหากในชีวิตคนเราเกิดมาแล้วไม่เคยเผชิญหน้ากับความเครียดเลย ซึ่งความเครียดที่เราเจอมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ เช่น วัยเด็ก สิ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกเครียดก็คือ ความรู้สึกกลัวว่าพ่อแม่จะไม่รัก กลัวการถูกทอดทิ้ง วัยรุ่นส่วนใหญ่ จะเครียดเรื่องอยากได้การยอมรับจากเพื่อน ๆ และความสนใจจากเพศตรงข้ามเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนวัยผู้ใหญ่ โดยทั่วไป ความเครียดมักเกิดจากเรื่องงานและครอบครัว เนื่องจากวัยนี้ต้องมีความรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวสูง

ทั้งนี้ ความรู้สึกเครียดเรื่องเดียวกันจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางจิตใจและมุมมองความคิดของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ที่มีปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองสังคม รวมถึงปัญหาเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย ถึงแม้จะมีคำกล่าวไว้ว่าทุกปัญหามักมีทางออก แต่บางครั้งกว่าจะหาทางออกได้ก็หนักเอาการ ดังนั้น ความเครียดจึงเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ความเครียด” ในเชิงวิชาการ คือ การรักษาสมดุลของมนุษย์ (Homeostasis) เป็นการกระตุ้นให้มนุษย์เราเลือกที่จะสู้หรือจะถอย (Fight or Flight) เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีปัญหา มีรายงานวิจัยยืนยันว่า หากเรามีความเครียดอยู่ในปริมาณไม่มากนัก สามารถช่วยให้เกิดความรู้สึกกระตือรือร้น มีพลังที่จะต่อสู้อุปสรรคที่เผชิญอยู่ได้ รวมถึงสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ ความเครียดในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดความเครียดในปริมาณมากนั้น สามารถบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราได้ จนทำให้มีหลาย ๆ คนต้องพึ่งหมอ พึ่งยากันเลยทีเดียว ดังนั้นคงเป็นการดีที่เราจะสามารถลดอาการที่เกิดจากความเครียด หรือล้างพิษของอาการเครียดเบื้องต้นได้ด้วยตนเองจากสิ่งใกล้ ๆ ตัวที่หลายคนอาจละเลย นั่นก็คือ “อาหาร”

ดังนั้นจะขอนำเสนอวิธีการต้านทานความเครียดแบบง่าย ๆ ด้วยการใช้อาหารชนิดต่าง ๆ กัน ซึ่งก็อาจจะเหมาะสมกับจริตของท่านผู้อ่านที่แตกต่างกันด้วย

🔴 1. อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต การได้รับคาร์โบไฮเดรตและอารมณ์เครียดนั้นมีความสัมพันธ์กัน เนื่องมาจากการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงจะเพิ่มกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ทริปโตเฟน (tryptophan) ให้สูงขึ้นและสามารถผ่านเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งร่างกายจะนำไปใช้สร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อ “เซโรโทนิน” โดยสารนี้ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท มีบทบาทหลายหน้าที่ เช่น ควบคุมความหิว ความโกรธ รู้สึกเบิกบานใจ และอารมณ์ต่าง ๆ

🔴 2. อาหารประเภทปลาทะเลและปลาน้ำจืด ผู้ที่กินปลาทะเลซึ่งเป็นแหล่งไขมันชนิดโอเมก้า-3 (omega-3) นั้น จะมีอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าผู้ที่มีการกินปลาทะเลต่ำ และในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็พบว่ามีระดับของไขมันชนิดนี้ในเลือดต่ำสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นของกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ที่ช่วยในการทำงานของสมองและสมาธิให้ดีขึ้น และยังพบว่ากรดไขมันกลุ่มนี้มีผลต่อสารสื่อประสาทอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับสมดุลทางด้านอารมณ์ สำหรับอาหารที่เป็นแหล่งของกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาทะเลต่าง ๆ น้ำมันปลา สาหร่ายทะเล ไข่ และอะโอคาโด ในส่วนของปลาทะเลนั้นอาจมีราคาค่อนข้างแพง แต่เราสามารถกินปลาน้ำจืดแทนได้ ปลาน้ำจืดบางชนิดก็ให้โอเมก้า 3 สูง (ปริมาณเนื้อปลา 100 กรัม)

🔴 3. อาหารที่มีวิตามินซีสูง เป็นที่ทราบกันดีว่าวิตามินซีมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง และเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย นอกจากนั้นยังสามารถช่วยลดอาการเครียดและช่วยให้ร่างกายสามารถต้านทานความเครียดได้ดี โดยจะช่วยปกป้องร่างกายจากอนุมูลอิสระซึ่งเกิดจากภาวะเครียดที่จะมาทำร้ายเซลล์ร่างกายของเราได้ อาหารที่มีวิตามินซีสูงได้แก่ ผลไม้ตระกูล ส้ม มะนาว ฝรั่ง มะขามป้อม และผักใบเขียวต่าง ๆ

🔴 4. อาหารที่มีวิตามินบีต่าง ๆ วิตามินบีมีหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 (ไทอามีน), วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน), วิตามินบี 3 (ไนอาซิน), วิตามินบี 5 (กรดแพนโทเทนิก), วิตามินบี 6 (ไพริด็อกซีน), วิตามินบี 7 (ไอโอทิน), วิตามินบี 9 (กรดโฟลิก), วิตามินบี 12 (ไซยาโนโคบาลามิน) บรรดาวิตามินดังกล่าวนี้ ล้วนมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทและภาวะอารมณ์ของคนเรา อาหารที่มีวิตามินบีคอมเพล็กซ์เหล่านี้ ได้แก่ ถั่วและธัญพืชที่ไม่ขัดสี จมูกข้าวสาลี กล้วย ผักใบเขียว ข้าวโพด ไข่ อะโวคาโด

🔴 5. อาหารที่มีสังกะสีและโพแทสเซียม สังกะสีมีหน้าที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ โดยเฉพาะเมื่อเราตกอยู่ในสภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า เป็นเวลานาน ๆ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง โดยเฉพาะผู้หญิงมีรายงานว่า หากขาดธาตุสังกะสีจะทำให้เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวนและโรคซึมเศร้าได้ อาหารที่มีสังกะสีสูงได้แก่ อาหารทะเล ตับ เนื้อไม่ติดมัน ไข่แดง จมูกข้าวสาลีและงา

ส่วนโพแทสเซียมนั้นเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นมากในการส่งสัญญาณสื่อประสาทของสมอง อีกทั้งช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ กล้วยหอม ส้ม แคนตาลูป ผลไม้แห้ง มันฝรั่ง มะเขือเทศ และแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญต่อระบบประสาทคือ แคลเซียม ช่วยในการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อและการทำงานของระบบประสาท พบมากในอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์นม ปลาและกุ้งตัวเล็กตัวน้อย

อย่างไรก็ตาม หากได้ทดลองใช้อาหาร เพื่อบำบัดอารมณ์แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซึมเศร้ามากกว่า 6 เดือนขึ้นไป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด