ถ้าร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ย่อมจะเกิดปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันไป คือ

🔴 วัยเด็กและวัยรุ่นที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต หากได้รับแคลเซียมน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะทำให้มวลกระดูก (Bone Mass) และความหนาแน่นของกระดูก (Bone Density) บกพร่อง แต่ไม่มีอาการปรากฏชัดเจน เพราะแคลเซียมในเลือดยังคงปกติ และจะไม่ได้รับประโยชน์จากแคลเซียมในแง่ของการพัฒนาความสูงอย่างเต็มที่

🔴 หญิงตั้งครรภ์ ถ้าได้รับแคลเซียมไม่พอ ร่างกายจะดึงแคลเซียมจากกระดูกและฟันของแม่ออกมาทดแทน ทำให้กระดูกและฟันผุง่าย กล้ามเนื้อเกร็ง ปวด เป็นตะคริวได้ง่าย ยิ่งถ้าตั้งครรภ์หลายครั้งหรือมีลูกหลายคนโดยไม่ได้เสริมแคลเซียมให้เพียงพอระหว่างตั้งครรภ์ จะมีอาการเสียวฟันและฟันผุชัดเจนยิ่งขึ้น

🔴 ผู้สูงอายุ เป็นช่วงที่ร่างกายขาดความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระดูก โดยเฉพาะสตรีที่หมดประจำเดือนจะขาดฮอร์โมนเพศที่ช่วยกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระดูก และนอกจากจะดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้น้อยลงแล้ว ร่างกายยังขับแคลเซียมออกจากร่างกายเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เนื้อกระดูกบางลง และเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นสาเหตุให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะที่สะโพก (Hips) กระดูกสันหลัง (Spine) และข้อมือ (Wrists) ในวัยนี้จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือเสริมด้วยผลิตภัณฑ์แคลเซียม

โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยได้รับแคลเซียมจากอาหารประมาณ 350 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งยังไม่เพียงพอ จึงควรเสริมให้มากขึ้น แต่ไม่ควรเกินครั้งละ 500 มิลลิกรัม และไม่ควรเกิน 2,500 มิลลิกรัม/วัน เพราะการดูดซึมของร่างกายมีขีดจำกัด ถ้าได้รับแคลเซียมมากเกินไปพบว่า ในสัตว์จะทำให้มีโครงกระดูกใหญ่ แข็งแรง และอายุยืนกว่าพวกที่ได้รับแคลเซียมต่ำ แต่ถ้าเป็นคนจะส่งผลให้ความสูงเพิ่มขึ้น ความหนาแน่นของกระดูกมากขึ้น แต่อาจจะได้รับผลข้างเคียงจากการบริโภคแคลเซียมมากเกินไป คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการกินอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำมาก ๆ ยกเว้นคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ศีรษะและคอ ซึ่งจะมีภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเพราะเซลล์มะเร็งทำลายเนื้อกระดูก เรื่องกินอยู่จึงควรให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด การขาดแคลเซียมเป็นปัญหาระยะยาวที่จะเห็นผลเมื่ออายุมากขึ้น แต่ไม่ปรากฏผลเสียทันทีทันใด จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจหรือให้ความสำคัญ แต่เมื่อตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว พ่อ-แม่ที่มีลูกยังเล็กควรใส่ใจดูแลสุขภาพของลูก โดยเฉพาะให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน เพราะการขาดแคลเซียมตั้งแต่เด็กจะส่งผลให้รูปร่างแคระ แกร็น เพราะกระดูกไม่เติบโตและขาดความแข็งแรง เมื่อไม่สามารถรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตามอายุได้ จะทำให้ขาโก่ง กระดูกซี่โครงงอ กระดูกเชิงกรานมีรูปร่างผิดปกติ อาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเหล่านี้จะไม่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้แล้ว เมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุก็ยังเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนสูงกว่าปกติ ทำให้กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะกระดูกข้อมือ สะโพก สันหลัง ซึ่งหมายถึงอาการเจ็บปวดและคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นและคุ้มค่าหากจะบำรุงดูแลแต่เนิ่น ๆ ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง อาจจะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมได้ ภายใต้คำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์