ต้องบอกว่า ทุกวันนี้อาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับช่องท้อง เริ่มแพร่กระจายไปยังกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับวัยทำงาน ที่กินข้าวไม่ค่อยเป็นเวลา แถมยังสะสมความเครียดทุกวัน ๆ โดยไม่รู้ตัวอีกต่างหาก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้สามารถทำให้ร่างกายของเราเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับช่องท้องได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือโรคกรดไหลย้อน เดือดร้อนให้ต้องเดินแถวเข้าพบแพทย์ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องพกยาบรรเทาอาการติดตัวอยู่เสมอ

แต่ถ้าตอนนี้คุณเริ่มจะเอือมกับปัญหาช่องท้อง และไม่อยากจะกินยาบรรเทาอาการอีกต่อไปแล้ว คุณสามารถลดความเสี่ยงของอาการเกี่ยวกับช่องท้องต่าง ๆ ได้ด้วย 5 สุดยอดอาหารเหล่านี้เลย

🔴 1. ผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระสูง

ผักสีเขียว ผักผลไม้ทุกชนิดมีประโยชน์กับร่างกายเราอยู่แล้ว เนื่องจากอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน ไฟโตนิวเทรียน อีกทั้งยังมีปริมาณไขมัน และให้พลังงานแคลอรี่ค่อนข้างต่ำมาก ๆ แต่ถึงอย่างนั้น ผักผลไม้บางชนิดก็แอบมีสาร FODMAPs หรืออาหารกลุ่มที่ส่งเสริมให้แบคทีเรียในลำไส้เติบโต ซึ่งก็คือ กลุ่มอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดูดซึมได้น้อยในลำไส้เล็ก และจะผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่แทน ลักษณะอาหารแบบนี้จะส่งผลกระทบกับบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยแป้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และก่อให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อเรื้อรัง

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงกับอาการผิดปกติทางช่องท้อง ก็ควรเลือกรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม และแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ เช่น ผักใบเขียว, ผักคะน้า, ผักโขม, เคล, แตงกวา, มะเขือยาว, มะเขือเทศ, มันฝรั่ง และพริกหยวก

🔴 2. ผลไม้รสหวาน

ผลไม้รสหวานบางชนิด เช่น กล้วย, แคนตาลูป, บลูเบอร์รี, องุ่น, ส้ม, สัปปะรด, มะละกอ, สตรอว์เบอร์รี และราสป์เบอร์รี ต่างก็มีปริมาณกลูโคส และฟรุคโตสในอัตราที่สมดุล ซึ่งพอเหมาะกับการย่อยอาหารของลำไส้ มากกว่าความหวานจากฟรุคโตสของอาหารชนิดอื่น ๆ จึงช่วยเลี่ยงอาการผิดปกติทางช่องท้องได้เป็นอย่างดีเลย

🔴 3. ธัญพืชบางชนิด

ธัญพืช อย่างที่บอกว่า อาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารประเภทแป้ง อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดเรื้อรังได้ ดังนั้นเหล่าธัญพืชทั้งหลายจึงเข้าข่ายอาหารที่มีสาร FODMAPs เช่นกัน แต่ก็มีธัญพืชบางชนิด เช่น เมล็ดควินหวา, ข้าวโอ๊ต และข้าวกล้อง ที่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นธัญพืชที่แม้จะมีคาร์โบไฮเดรตอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีไฟเบอร์ และวิตามินที่สำคัญกับร่างกาย แถมยังมีปริมาณสาร FODMAPs ต่ำกว่าธัญพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย

🔴 4. ถั่ว และเมล็ดธัญพืช

ถั่ว และเมล็ดธัญพืช ถั่ว และอาหารประเภทเมล็ดอุดมไปด้วยโปรตีนที่ให้พลังงานสูง ไฟเบอร์เยอะ อีกทั้งยังมีไขมันดี ชนิดต้านอาการอักเสบในร่างกายได้อยู่หมัด แต่ทั้งนี้ก็ต้องเลือกรับประทานถั่วด้วยเช่นกัน เนื่องจากถั่วบางชนิดก็มีสาร FODMAPs ปนอยู่ด้วย ซึ่งถั่วที่ควรจะกินก็ได้แก่ เฮลเซนัท, อัลมอนด์, แมคคาเดเมีย, ถั่วลิสง, พีแคน, วอลนัท, เมล็ดเจีย, เมล็ดแฟลกซ์, เมล็ดฟักทอง, งาดำ และเมล็ดทานตะวัน

🔴 5. เนื้อไม่ติดมัน

เนื้อไม่ติดมัน ปกติโปรตีนไม่ค่อยมีปัญหากับการย่อยอาหารสักเท่าไร แต่ในที่นี้ก็ควรจะเป็นโปรตีนจากเนื้อที่ไม่ติดไขมัน เพราะเนื้อที่ติดไขมัน จะมีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดอาการอักเสบในช่องท้อง ดังนั้นคุณก็ควรเลือกกินโปรตีนจากอาหาร เช่น ไข่แดง, ปลา, เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน, เต้าหู้ และอาหารทะเลแทน

สำหรับคนที่มักจะเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยบ่อย ๆ ลองรับประทานอาหาร 5 ชนิดนี้ดู อาการผิดปกติทางช่องท้อง ที่ทรมานคุณมาตลอดจะได้หายไปสักที