มะเร็ง โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่เป็นแล้วใช่ว่าจะจบชีวิตลงทันทีเสียที่ไหน หนทางรักษามีมากมาย ทั้งกินยา ผ่าตัด ฉายรังสี หรือยาเคมีบำบัด ซึ่งในช่วงการรักษาเชื่อตามกันมาว่า ต้องกินแต่ปลากับผักเท่านั้น เนื่องจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ใช่ปลาจะมีผลให้เซลล์มะเร็งเติบโต “อาหารนั้นสำคัญไฉนในผู้ป่วยมะเร็ง” ความเชื่อดังกล่าว เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะแม้ไม่กินอะไรเลย เซลล์มะเร็งก็ยังเจริญเติบโตได้อยู่ดี ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับสารอาหารหรือโปรตีนอย่างถูกต้องเพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวลดลง ร่างกายทนต่อการรักษาได้น้อยลง ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควรโดยเฉพาะช่วงหลังจากที่ป่วยผ่านการผ่าตัดฉายรังสี หรือเคมีบำบัดไป ร่างกายยิ่งต้องการโปรตีนมากกว่าปกติ เพื่อรักษาเนื้อเยื่อในร่างกายและต่อสู้กับการติดเชื้ออักเสบ ดังนั้นการขาดโปรตีนจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวช้า ความต้านทานการอักเสบต่ำ ผู้ป่วยมะเร็งต้องได้รับสารอาหารได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน น้ำ และวิตามินกับเกลือแร่ เพื่อต่อสู้กับมะเร็ง

โปรตีน : โปรตีนที่ควรรับประทานนั้น ประกอบด้วยถั่วเปลือกแข็ง เนื้อสัตว์ ปลา ไก่ ผลิตภัณฑ์จากนม

คาร์โบไฮเดรต : คาร์โบไฮเดรต อันเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ควรกินจากผัก ผลไม้โฮลเกรน หรือธัญพืชเต็มเมล็ด ขณะที่ไขมันหรือน้ำมัน ควรเลือกที่ผลิตจากกรดไขมัน เว้นแต่ผู้ที่ปัญหาโรคหัวใจและคอเลสเตอรอลสูงให้เลือกไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว สำหรับน้ำ ควรดื่ม อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เนื่องจากเป็นตัวช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

วิตามินและเกลือแร่ : สุดท้ายวิตามินและเกลือแร่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและแข็งแรงที่จำเป็นต้องได้รับ คือ วิตามิน A, C, E ธาตุเหล็ก แคลเซียมและโซเดียม

ทั้งนี้ ยังมีอาการที่ควรจำกัด อย่ากินมาก คือ ประเภทไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์และอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักเกลือ รมควัน ดอง ควรเลือกใช้วิธีอบหรือต้มในการปรุงอาหารและที่สำคัญคือ งดดื่มแอลกอฮอล์ หากผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดแล้วมีอาการข้างเคียงอย่างภาวะเม็ดเลือดต่ำ จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแนะให้งดอาหารไม่สุก ของหมักดอง เฉพาะกรณีที่เม็ดเลือดขาวต่ำ ให้งดผักและผลไม้สดไปชั่วคราว