กล้วยสุกกับความดันเลือดสูง

การกินอาหารที่มีโพแทสเซียมมีผลลดค่าความดันเลือด “อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงและมีโซเดียม (เกลือ) ต่ำ อาจลดความเสี่ยงจากโรคความดันเลือดสูงและหลอดเลือดแตกได้” กลุ่มผู้มีความดันเลือดสูงที่ได้รับโพแทสเซียมมีความดันเลือดที่ลดลงทั้งความดันช่วงบน (ไดแอสโตลี) และช่วงล่าง (ซิสโตลี) แหล่งของโพแทสเซียมที่ดีที่สุด คือ ได้มาจากอาหาร โพแทสเซียมช่วยการทำงานของหัวใจและควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักดื่มกาแฟ กินแป้งและอาหารหวาน และมักจะเป็นโรคความดันเลือดสูงในเวลาต่อมา บุคคลเหล่านี้ขาดโพแทสเซียมทำให้ร่างกายสะสมกรดส่วนเกินและสารพิษต่างๆ ไว้ กรดส่วนเกิดเหล่านี้ขัดขวางการย่อยและการเผาผลาญอาหารของร่างกาย ผู้ที่ร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำมักมีปริมาณโซเดียมสูง ถ้ากินเกลือและอาหารเค็มมากเท่าไร ก็ควรจะต้องได้รับโพแทสเซียมมากขึ้นกว่าคนอื่น โพแทสเซียมเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ ควบคุมการส่งออกซิเจนไปยังสมอง และรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย เวลาเกิดอารมณ์เครียด อัตราการเผาผลาญของร่างกายจะสูงขึ้นและทำให้ระดับโพแทสเซียมลดลง การกินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงจะช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล บุคคลหนึ่งๆ มีความต้องการโพแทสเซียมประมาณวันละ 2,000 มิลลิกรัม กล้วยหอม 1 ผล มีโพแทสเซียมประมาณ 600 มิลลิกรัม

กล้วยกับโรคระบบทางเดินอาหาร

กล้วยน้ำว้าดิบใช้แก้อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ลมในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารและอาการกรดสะสมในร่างกาย ผลสุกรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและเป็นยาระบายอย่างอ่อน รักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ และโรคทางทวาร ผลกล้วยสุกงอมกินก่อนนอนครั้งละ 2 ผล ติดต่อกันหลายๆ วัน ช่วยระบาย ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารจากกล้วยกลุ่มแพลนเทน (กล้วยหักมุก) ดิบ พบว่า สารออกฤทธิ์กลุ่มฟลาโวนอยด์ เรียกลิวโคไซยาไนดิน (leucocyanidin) สารลิวโคไซยาไนดินและอนุพันธ์สังเคราะห์ของมันเพิ่มความหนาของเนื้อเยื่อเมือกอย่างมีนัยสำคัญ ป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารจากการกัดทำลายของแอสไพรินในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ การศึกษาที่ประเทศอินเดียพบว่าสารสกัดเมทานอลจากผลแพลนเทนดิบป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหาร โดยการเพิ่มปริมาณไกลโคโปรตีนและการแบ่งตัวเพิ่มของเซลล์อีกด้วย

กล้วยกับเบาหวานและการควบคุมน้ำหนัก

ดรรชนีไกลซีมิก (glycemic index หรือ GI) คือ การจัดอาหารคาร์โบไฮเดรต โดยดูผลต่อการตอบสนองของปริมาณน้ำตาลในเลือดที่มีต่ออาหารนั้นๆ นับเป็นค่าชีวภาพของคาร์โบไฮเดรตในเชิงโภชนาการ เทียบกับค่าที่ได้จากน้ำตาลกลูโคสหรือขนมปังขาวที่มีน้ำหนักเท่ากัน อาหารที่ให้ค่าดรรชนีไกลซีมิกต่ำมีอัตราการดูดซึมกลูโคสช้ากว่าอาหารที่มีค่าดรรชนีไกลซีมิกสูง การกินอาหารที่มีค่าดรรชนีไกลซีมิกต่ำจะทำให้การควบคุมกลูโคสในกระแสเลือดดีขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในซีรั่มของผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง จะเห็นว่าถ้ากินกล้วยหรือแอปเปิ้ลเป็นอาหารว่าง จะเกิดการดูดซึมน้ำตาลที่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน เป็นอาหารว่างที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพิ่มปริมาณทริปโทเฟนในกระแสเลือดทำให้ลดความอยากอาหารและผ่อนคลาย และปริมาณเส้นใยอาหารจะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น และระยะยาวอาจมีผลต่อการควบคุมน้ำหนักถ้าปฏิบัติร่วมกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ